สมเด็จพระเพทราชา


สมเด็จพระเพทราชา


พระราชประวัติ
          สมเด็จพระเพทราชา เป็นชาวบ้านพลูหลวง แขวงเมืองสุพรรณบุรี (ปัจจุบันคือบ้านพลูหลวง ตั้งอยู่ใน ต.สนามชัย อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี) เป็นบุตรของพระนมเปรม และมีพระขนิษฐาคือท้าวศรีจุฬาลักษณ์ (แจ่ม) พระสนมเอกในสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ต่อมาได้รับราชการจนมีบรรดาศักดิ์เป็นพระเพทราชา ดำรงตำแหน่งเจ้ากรมพระคชบาล มีกำลังพลในสังกัดหลายพัน
          ในปี พ.ศ. 2231 เมื่อสมเด็จพระนารายณ์มหาราชประทับ ณ พระที่นั่งสุทธาสวรรค์ ทรงพระประชวรใกล้สวรรคต ทรงเห็นว่าพระเพทราชาเป็นผู้ใหญ่ จึงมอบหมายให้ว่าราชการแทน ระหว่างนั้นพระเพทราชาลวงพระอนุชาทั้งสองพระองค์ของสมเด็จพระนารายณ์ คือเจ้าฟ้าน้อยและเจ้าฟ้าอภัยทศว่ามีรับสั่งให้เข้าเฝ้า เมื่อทั้งสองพระองค์เสด็จถึงเมืองลพบุรีก็ถูกหลวงสรศักดิ์จับไปสำเร็จโทษที่วัดทราก ส่วนพระปีย์พระราชโอรสบุญธรรมถูกผลักตกจากชาลาพระที่นั่งสุทธาสวรรค์แล้วกุมตัวไปสำเร็จโทษ เมื่อสมเด็จพระนารายณ์สวรรคตแล้ว ได้สั่งให้เจ้าพระยาวิชเยนทร์ (คอนสแตนติน ฟอลคอน) เข้ามาพบ เมื่อเจ้าพระยาวิชเยนทร์มาถึงศาลาลูกขุนก็ถูกกุมตัวไปประหารชีวิต เมื่อจัดการบ้านเมืองสงบแล้วจึงเชิญพระบรมศพสมเด็จพระนารายณ์มาประดิษฐานที่พระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ แล้วรับราชาภิเษก ณ พระที่นั่งสรรเพชญปราสาท
          เมื่อปราบดาภิเษกนั้นสมเด็จพระเพทราชามีพระชนมายุได้ 51 พรรษา ทรงพระนามว่า "สมเด็จพระมหาบุรุษ วิสุทธิเดชอุดม บรมจักรพรรดิศร บรมนาถบพิตร สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว" แล้วทรงตั้งคุณหญิงกันเป็นพระอัครมเหสีฝ่ายขวา (พระมเหสีเดิมในพระเพทราชา เป็นผู้อภิบาลพระเจ้าเสือตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ ภายหลังได้ขึ้นเป็นที่ กรมพระเทพามาตย์ ในสมัยของพระเจ้าเสือ) ตั้งกรมหลวงโยธาเทพ (เจ้าฟ้าทอง) พระราชธิดาในสมเด็จพระนารายณ์เป็นพระมเหสีฝ่ายซ้าย ตั้งนางนิ่มเป็นพระสนมเอก ตั้งหลวงสรศักดิ์เป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ตั้งหม่อมแก้วบุตรท้าวศรีจุฬาลักษณ์ (แจ่ม) พระขนิษฐาของพระองค์เป็นกรมขุนเสนาบริรักษ์ เป็นต้น
          เมื่อพระองค์ขึ้นครองราชย์แล้ว ก็ได้ขับไล่กำลังทหารฝรั่งเศสออกไปจากกรุงศรีอยุธยา แต่ยังทรงอนุญาตให้บาทหลวง และพ่อค้าชาวฝรั่งเศสอาศัยอยู่ในกรุงศรีอยุธยาต่อไปได้ ได้มีการทำสนธิสัญญากับฝรั่งเศส เรื่องการขนย้ายทหาร และทรัพย์สินของฝรั่งเศสออกจากป้อมที่บางกอก โดยฝ่ายอาณาจักรอยุธยาเป็นผู้จัดเรือ กับต้องส่งคืนทรัพย์สิน ที่เป็นของกรุงศรีอยุธยาคืนทั้งหมด สำหรับข้าราชการและราษฎรไทย ที่ยังอยู่ในประเทศฝรั่งเศส ทางฝรั่งเศสจะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการเดินทางกลับกรุงศรีอยุธยา ผลการปฏิบัติดังกล่าวทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างกรุงศรีอยุธยากับฝรั่งเศส สิ้นสุดลงตั้งแต่นั้นมา
          สมเด็จพระเพทราชาเสด็จสวรรคตเมื่อปี พ.ศ. 2246 พระราชพงศาวดาร ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน ฉบับตัวเขียน ระบุว่าสวรรคต ณ พระที่นั่งบรรยงก์รัตนาสน์ ขณะครองราชย์ได้ 15 ปี สิริพระชนมายุได้ 71 พรรษา

พระราชกรณียกิจ

1. การปฏิรูปการปกครอง
          ในรัชสมัยของพระองค์ ได้มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการปกครองใหม่ โดยกำหนดให้หัวเมืองฝ่ายเหนืออยู่ในความดูแลของสมุหนายก และหัวเมืองฝ่ายใต้อยู่ในความดูแลของสมุหพระกลาโหมโดยแบ่งให้แต่ละฝ่ายรับผิดชอบดูแลกิจการทั้งด้านทหารและพลเรือนในภูมิภาคนั้น ๆ
          นอกจากนี้พระองค์ยังได้เพิ่มจำนวนกำลังทหารให้แก่กรมพระราชวังบวรสถานมงคลหรือวังหน้า เพื่อเป็นกำลังป้องกันวังหลวงอีกทางหนึ่งด้วย

2. งานต่างประเทศ
          พระราชพงศาวดาร ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ระบุว่าในรัชกาลนี้ประเทศใกล้เคียงเข้ามาอ่อนน้อมเจริญสัมพันธไมตรี กล่าวคือ ในปี พ.ศ. 2234 นักเสด็จเถ้าพระเจ้ากรุงกัมพูชาโปรดให้พระยาเขมร 3 คนนำช้างเผือกพังช้างหนึ่งมาถวาย สมเด็จพระเพทราชาพระราชทานชื่อว่าพระบรมรัตนากาศ ชาติคเชนทร์ วเรนทรมหันต์ อนันตคุณ วิบุลธรเลิดฟ้า และพระราชทานผ้าแพรจำนวนมากให้พระยาเขมรนำไปพระราชทานนักเสด็จเถ้า
          ต่อมาในปี พ.ศ. 2238 พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุต (เวียงจันทน์) ได้ส่งราชทูตนำพระราชสาส์นมาทูลว่าจะถวายพระราชธิดา และขอกรุงศรีอยุธยาส่งกองทัพไปช่วยป้องกันกรุงศรีสัตนาคนหุตจากกองทัพหลวงพระบาง จึงโปรดให้พระยานครราชสีมานำพล 10,000 ไปกรุงเวียงจันทน์ หลวงพระบางทราบข่าวจึงยอมประนีประนอมกับเวียงจันทน์ เมื่อเรือพระที่นั่งของพระราชธิดาพระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตมาถึงหน้าวัดกระโจม กรมพระราชวังบวรสถานมงคลก็มีพระบัณฑูรให้รับพระราชธิดานั้นไว้ที่วังหน้า แล้วเสด็จไปกราบทูลสมเด็จพระเพทราชา สมเด็จพระเพทราชาก็พระราชทานตามที่ขอ



อ้างอิง