สมเด็จพระนเรศวรมหาราช
พระราชประวัติ
สมเด็จพระนเรศวรมหาราชเสด็จสมภพที่เมืองพิษณุโลก
เมื่อปีเถาะ พ.ศ.2098
พระองค์เป็นราชโอรสของสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช
พระเจ้าแผ่นดินราชวงศ์สุโขทัยองค์แรกที่ครองกรุงศรีอยุธยา พระวิสุทธิกษัตรี
ราชธิดาของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิอันเกิดด้วยพระสุริโยทัยเป็นพระชนนี
เพราะฉะนั้นโดยพระชาติเป็นเชื้อกษัตริย์ทั้งราชวงศ์พระร่วงสุโขทัยและราชวงศ์กรุงศรีอยุธยา
พระองค์มีพระพี่นางองค์ 1 ทรงพระนามว่าพระสุพรรณกัลยาณี
พระน้องยาองค์ 1 ทรงพระนามว่าพระเอกาทศรถ
ซึ่งได้รับรัชชทายาท แต่หามีพระราชโอรสธิดาไม่ เมื่อสมเด็จพระนเรศวรสมภพ
ยศเจ้าฟ้ายังไม่มีในประเพณีกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระชนกก็ยังทรงพระยศเพียงเป็นเจ้าขัณฑสีมา
แต่พระชนนีเป็นสมเด็จพระราชธิดา พระองค์เป็นราชนัดดา คงทรงพระยศเป็นพระองค์เจ้า
ฝรั่งจึงเรียกในจดหมายเหตุแต่งในสมัยนั้นว่า The Black Prince ตรงกับว่า “พระองค์ชายดำ” และเรียกพระอนุชาเอกาทศรถว่า
The White Prince ตรงกับ “พระองค์ชายขาว”
เป็นคู่กัน คงแปลไปจากพระนามที่คนทั้งหลายเรียกสมเด็จพระนเรศวรเมื่อยังทรงพระเยาว์ว่า
“พระองค์ชายดำ” อาจจะมีพระนามขนานอีกต่างหากแต่ไม่ปรากฏ
พระนามว่า “พระนเรศ” นั้นต่อมาสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชเสวยราชย์แล้ว
จึงพระราชทานเมื่อทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เวลาพระชันษาได้ 15 ปี เป็นพระนามสำหรับลูกหลวงเอกเช่นเดียวกับพระนามว่า “พระราเมศวร” ซึ่งเคยมีมาแต่ก่อน
แต่พระองค์อื่นเมื่อขึ้นเสวยราชย์เป็นพระเจ้าแผ่นดินมักเปลี่ยนไปใช้พระนามอื่น
ดังเช่นพระราเมศวรราชโอรสของสมเด็จพระบรมราชาธิราช (สามพระยา)
เมื่อเสวยราชย์เปลี่ยนพระนามเป็นสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ
ถึงสมเด็จพระนเรศวรเมื่อเสวยราชย์ก็อาจมีพระนามอื่นถวายเมื่อราชาภิเษก
แต่ยังใช้พระนามว่า “พระนเรศวร” หรือ “พระนเรศ” ต่อมาในเวลาเมื่อเป็นพระเจ้าแผ่นดินแล้วดังปรากฏอยู่ในบานแพนกกฎหมายลักษณะกบฏศึกตอน
1 ซึ่งสมเด็จพระเอกาทศรถทรงตั้งเมื่อปีมะเส็ง จุลศักราช 955 (พ.ศ.2136) ออกพระนามสมเด็จพระนเรศวรว่า “สมเด็จบรมบาทบงกชลักษณ์ อัครบุริโสดม บรมหน่อนรา เจ้าฟ้านเรศ เชษฐาธิบดี”
ดังนี้ (เหตุที้ใช้คำเจ้าฟ้าจะมีอธิบายในเรื่องต่อไปข้างหน้า)
ถึงในพงศาวดารพะม่ามอญก็เรียกพระนามแต่ว่า “พระนเรศ” อย่างเดียว เหมือนเช่นไทยเราเรียกกันมา
คิดหาเหตุที่ไม่เปลี่ยนพระนามก็พอเห็นได้
ด้วยสมเด็จพระนเรศวรทรงบำเพ็ญพระอภินิหารปรากฏพระเกียรติว่าเป็น “วีรบุรุษ” มาตั้งแต่ยังเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอพระนเรศวร
พระนามนั้นเลื่องลือระบือไปทั่วทุกประเทศแล้วก็ไม่มีใครสามารถจะให้คนเรียกเป็นอย่างอื่นได้
พระราชกรณียกิจ
1. พระมหาอุปราชายกทัพมาครั้งแรก
สมเด็จพระนเรศวรเสวยราชย์ได้ 8
เดือนก็เกิดข้าศึกพม่าอีก เหตุที่จะเกิดศึกครั้งนี้คือเจ้าฟ้าไทยใหญ่เมืองคังตั้งแข็งเมืองขึ้นอีก
พระเจ้านันทบุเรงตรัสปรึกษาเสนาบดี
เห็นกันว่าเป็นเพราะเหตุที่เจ้าเมืองคังได้ทราบว่าปราบกรุงศรีอยุธยาไม่สำเร็จ
จึงตั้งแข็งเมืองเอาอย่างบ้างตราบใดที่ยังไม่ปราบกรุงศรีอยุธยาลงได้ ถึงแม้จะปราบเมืองคังได้ เมืองอื่นก็คงแข้งข้อเอาอย่าง
แต่ในเวลานั้นพระเจ้านันทบุเรงทรงอยู่ในวัยชราทุพพลภาพ
ไม่ทรงสามารถจะไปทำสงครามเอาได้ดังแต่ก่อน จึงจัดกองทัพขึ้นสองทัพ
ให้ราชบุตรองค์หนึ่งซึ่งได้เป็นพระเจ้าแปรขึ้นใหม่ยกไปตีเมืองคัง
ทัพหนึ่งให้พระยาพะสิม พระยาพุกามเป็นกองหน้า พระมหาอุปราชาเป็นกองหลวงยกลงมาตีกรุงศรีอยุธยาอีกทัพหนึ่ง
พระมหาอุปราชายกออกจากกรุงหงสาวดีเมื่อเดือน 12 พ.ศ. 2133
มาเข้าทางด่านพระเจดีย์สามองค์ เพื่อตรงมาตีพระนครศรีอยุธยาทีเดียว ฝ่ายทางกรุงศรีอยุธยาครั้งนี้
รู้ตัวช้าจึงเกิดความลำบาก ไม่มีเวลาจะต้อนผู้คนเข้าพระนครดังคราวก่อน ๆ
สมเด็จพระนเรศวรทรงเห็นว่าจะคอยต่อสู้อยู่ในกรุงอาจไม่เป็นผลดีเหมือนหนหลัง
จึงรีบเสด็จยกกองทัพหลวงออกไปกับสมเด็จพระเอกาทศรถ ในเดือนยี่
เมือเสด็จไปถึงเมืองสุพรรณบุรีได้ทรงทราบว่าข้าศึกยกล่วงเมืองกาญจนบุรีเข้ามาแล้ว
จึงให้ตั้งทัพหลวงรับข้าศึกอยู่ที่ลำน้ำท่าคอย
พอกองทัพพม่ายกมาถึงก็รบกันอย่างตะลุมบอน พระยาพุกามแม่ทัพพม่าคนหนึ่งตายในที่รบ
กองทัพพม่าถูกไทยฆ่าฟันล้มตายเป็นอันมาก ที่เหลือก็พากันพ่ายหนี
ไทยไล่ติดตามไปจับพระยาพะสิมได้ที่บ้านจระเข้สามพันอีกคนหนึ่ง
พระมหาอุปราชาเองก็หนีไปได้อย่างหวุดหวิด เมื่อกลับไปถึงหงสาวดีพวก
แม่ทัพนายกองก็ถูกลงอาญาไปตาม ๆ กัน พระมหาอุปราชาก็ถูกภาคทัณฑ์ให้แก้ตัวในภายหน้า
2.
สงครามยุทธหัตถี
ในปี พ.ศ. 2135
พระเจ้านันทบุเรง โปรดให้พระมหาอุปราชา
นำกองทัพทหารสองแสนสี่หมื่นคน มาตีกรุงศรีอยุธยาหมายจะชนะศึกในครั้งนี้ สมเด็จพระนเรศวรทรงทราบว่าพม่าจะยกทัพใหญ่มาตี
จึงทรงเตรียมไพร่พล มีกำลังหนึ่งแสนคนเดินทางออกจากบ้านป่าโมกไปสุพรรณบุรี
ข้ามน้ำตรงท่าท้าวอู่ทองและตั้งค่ายหลวงบริเวณหนองสาหร่าย เช้าของวันจันทร์ แรม 2
ค่ำ เดือนยี่ ปีมะโรง พ.ศ. 2135 สมเด็จพระนเรศวรและสมเด็จพระเอกาทศรถทรงเครื่องพิชัยยุทธ
สมเด็จพระนเรศวรทรงช้าง นามว่า เจ้าพระยาไชยานุภาพ ส่วนสมเด็จพระเอกาทศรถ
ทรงช้างนามว่า เจ้าพระยาปราบไตรจักร ช้างทรงของทั้งสองพระองค์นั้นเป็นช้างชนะงา
คือช้างมีงาที่ได้รับการฝึกให้รู้จักการต่อสู้มาแล้วหรือเคยผ่านสงครามชนช้าง
ชนะช้างตัวอื่นมาแล้ว ซึ่งเป็นช้างที่กำลังตกมัน
ในระหว่างการรบจึงวิ่งไล่ตามพม่าหลงเข้าไปในแดนพม่า
มีเพียงทหารรักษาพระองค์และจาตุรงค์บาทเท่านั้นที่ติดตามไปทัน
สมเด็จพระนเรศวรทอดพระเนตรเห็นพระมหาอุปราชาทรงพระคชสารอยู่ในร่มไม้กับเหล่าเท้าพระยา
จึงทราบได้ว่าช้างทรงของสองพระองค์หลงถลำเข้ามาถึงกลางกองทัพ
และตกอยู่ในวงล้อมข้าศึกแล้ว แต่ด้วยพระปฏิภาณไหวพริบของสมเด็จพระนเรศวร
ทรงเห็นว่าเป็นการเสียเปรียบข้าศึกจึงไสช้างเข้าไปใกล้
แล้วตรัสถามด้วยคุ้นเคยมาก่อนแต่วัยเยาว์ว่า "พระเจ้าพี่เราจะยืนอยู่ใยในร่มไม้เล่า
เชิญออกมาทำยุทธหัตถีด้วยกัน ให้เป็นเกียรติยศไว้ในแผ่นดินเถิด
ภายหน้าไปไม่มีพระเจ้าแผ่นดินที่จะได้ยุทธหัตถีแล้ว"
พระมหาอุปราชาได้ยินดังนั้น
จึงไสช้างนามว่า พลายพัทธกอเข้าชนเจ้าพระยาไชยานุภาพเสียหลัก
พระมหาอุปราชาทรงฟันสมเด็จพระนเรศวรด้วยพระแสงของ้าว
แต่สมเด็จพระนเรศวรทรงเบี่ยงหลบทัน จึงฟันถูกพระมาลาหนังขาด
จากนั้นเจ้าพระยาไชยานุภาพชนพลายพัทธกอเสียหลัก
สมเด็จพระนเรศวรทรงฟันด้วยพระแสงของ้าวถูกพระมหาอุปราชาเข้าที่อังสะขวา
สิ้นพระชนม์อยู่บนคอช้าง ส่วนสมเด็จพระเอกาทศรถทรงฟันเจ้ามังจาปะโรเสียชีวิตเช่นกัน
ทหารพม่าเห็นว่าแพ้แน่แล้ว จึงใช้ปืนระดมยิงใส่สมเด็จพระนเรศวรได้รับบาดเจ็บ
ทันใดนั้นทัพหลวงไทยตามมาช่วยทัน จึงรับทั้งสองพระองค์กลับพระนคร
พม่าจึงยกทัพกลับกรุงหงสาวดีไป
นับแต่นั้นมาก็ไม่มีกองทัพใดกล้ายกมากล้ำกรายกรุงศรีอยุธยาอีกเป็นระยะเวลาอีกยาวนาน
แต่ในมหายาชะเวงหรือพงศาวดารของพม่า
ระบุว่า การยุทธหัตถีครั้งนี้
ช้างทรงของสมเด็จพระนเรศวรบุกเข้าไปในวงล้อมของฝ่ายพม่า
ฝ่ายพม่าก็มีการยืนช้างเรียงเป็นหน้ากระดาน มีทั้งช้างของพระมหาอุปราชา
ช้างของเจ้าเมืองชามะโรง ทหารฝ่ายสมเด็จพระนเรศวรก็ระดมยิงปืนใส่ฝ่ายพม่า เจ้าเมืองชามะโรงสั่งเปิดผ้าหน้าราหูช้างของตน
เพื่อไสช้างเข้ากระทำยุทธหัตถีกับสมเด็จพระนเรศวรเพื่อป้องกันพระมหาอุปราชา
แต่ปรากฏว่าช้างของเจ้าของชามะโรงเกิดวิ่งเข้าใส่ช้างของพระมหาอุปราชาเกิดชุลมุนวุ่นวาย
กระสุนปืนลูกหนึ่งของทหารฝ่ายสมเด็จพระนเรศวรก็ยิงถูกพระมหาอุปราชาสิ้นพระชนม์
3.
สงครามตีเมืองทะวายและตะนาวศรี
ศึกทะวายและตะนาวศรีนั้น
เป็นการรบในระหว่างคนต้องโทษกับคนต้องโทษด้วยกัน กล่าวคือ
ทางกรุงศรีอยุธยพาพวกนายทัพที่ตามเสด็จไม่ทันในวันยุทธหัตถีนั้น มีถึง 6
คนคือ พระยาพิชัยสงคราม พระยารามกำแหง เจ้าพระยาจักรี พระยาพระคลัง
และพระยาศรีไสยณรงค์ สมเด็จพระนเรศวรรับสั่งให้ปรึกษาโทษ
ลูกขุนปรึกษาโทษให้ประหารชีวิต สมเด็จพระวันรัตสังฆปรินายกมาถวายพระพรบรรยายว่า
การที่แม่ทัพเหล่านั้นตามเสด็จไม่ทัน ก็เพราะบุญญาภินิหารของพระองค์
สมเด็จพระนเรศวรที่จะได้รับเกียรติคุณเป็นวีรบุรุษที่แท้จริง
ด้วยเหตุว่าถ้าพวกนั้นตามไปทันแล้วถึงจะชนะก็ไม่เป็นชื่อเสียงใหญ่หลวงเหมือนที่เสด็จไปโดยลำพัง
เมื่อเห็นว่าสมเด็จพระนเรศวรทรงเลื่อมใสในคำบรรยายข้อนี้แล้ว
สมเด็จพระวันรัตก็ทูลขอโทษพวกแม่ทัพเหล่านี้ไว้ สมเด็จพระนเรศวรก็โปรดประทานให้
แต่พวกนี้จะต้องไปตีทะวายและตะนาวศรีเป็นการแก้ตัว
จึงให้เจ้าพระยาจักรีเป็นแม่ทัพคุมพลห้าหมื่นไปตีตะนาวศรี
พระยาพระคลังคุมกำลังพลหมื่นเหมือนกันไปตีทะวาย ส่วนแม่ทัพอื่น ๆ
ที่ต้องโทษก็แบ่งกันไปในสองกองทัพนี้คือพระยาพิชัยสงครามกับพระยารามคำแหงไปตีเมืองทะวายกับพระยาพระคลัง
และให้พระยาเทพอรชุนกับพระยาศรีไสยณรงค์ไปตีเมืองตะนาวศรีกับเจ้าพระยาจักรี
ส่วนทางหงสาวดีนั้น
เมื่อพระเจ้านันทบุเรงเสียพระโอรสรัชทายาทแล้วก็โทมนัส
ให้ขังแม่ทัพนายกองไว้ทั้งหมด
แต่ภายหลังทรงดำริว่าไทยชนะพม่าในครั้งนี้แล้วก็จะต้องมาตีพม่าโดยไม่ต้องสงสัย
ก่อนที่ไทยไปรบพม่าก็จะต้องดำเนินการอย่างเดียวกันกับที่พม่ารบกับไทย กล่าวคือ
จะต้องเอามอญไว้ในอำนาจเสียก่อนและเป็นการแน่นอนว่าไทยจะต้องเข้ามาตีทะวายและตะนาวศรี
ด้วยเหตุนี้จึงให้แม่ทัพนายกองที่ไปแพ้สงครามมาครั้งนี้ไปแก้ตัวรักษาเมืองตะนาวศรีและเมืองทะวาย
เป็นอันว่าทั้งผู้รบและผู้รับทั้งสองฝ่าย ตกอยู่ในฐานคนผิดที่จะต้องแก้ตัวทั้งสิ้น
ในการรบทะวายและตะนาวศรีครั้งนี้แม่ทัพทั้งสองคือ
เจ้าพระยาจักรีและพระยาคลังกลมเกลียวกันเป็นอย่างยิ่ง
ถึงแม้สมเด็จพระนเรศวรจะได้แบ่งหน้าที่ให้ตีคนละเมือง
ก็ยังมีการติดต่อช่วยเหลือกันและกัน ในที่สุดแม่ทัพทั้งสองก็รบชนะทั้งสองเมืองและบอกเข้ามายังกรุงศรีอยุธยา
สมเด็จพระนเรศวรได้โปรดเกล้าฯ ให้พระยาศรีไสยณรงค์อยู่ครองเมืองตะนาวศรี
ส่วนทางเมืองทะวายนั้นให้เจ้าเมืองทะวายคนเก่าครองต่อไป
ชัยชนะครั้งนี้เป็นอันทำให้แม่ทัพทั้งหลายพ้นโทษ แต่ทางพม่าแม่ทัพกลับถูกทำโทษประการใดไม่ปรากฏ
แต่อย่างไรก็ดีการชนะทะวายและตะนาวศรีครั้งนี้
ทำให้อำนาจของไทยแผ่ลงไปทางใต้เท่ากับในรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช
4.
ตีได้หัวเมืองมอญ
ปี พ.ศ. 2137 พระยาลาว เจ้าเมืองเมาะตะมะ เกิดวิวาทกับเจ้าพระยาพะโร
เจ้าเมืองเมาะลำเลิง พระยาพะโรกลัวพระยาลาวจะมาตีเมาะลำเลิงจึงให้สมิงอุบากองถือหนังสือมาขอบารมีสมเด็จพระนเรศวรเป็นที่พึ่ง
ขอพระราชทานกองทัพไปช่วยป้องกันเมือง
สมเด็จพระนเรศวรจึงยอมรับช่วยเหลือพระยาพะโรทันที
มีดำรัสสั่งให้พระยาศรีไศลออกไปช่วยรักษาเมืองเมาะลำเลิง ซึ่งแต่บัดนี้ไปได้ยอมมาสวามิภักดิ์เป็นประเทศราชของไทย
ฝ่ายข้างพระยาลาวเจ้าเมืองเมาะตะมะ ก็ไปขอความช่วยเหลือทางหงสาวดีบ้าง
ทางหงสาวดีให้พระเจ้าตองอูยกทัพมาช่วย
แต่กองทัพไทยกับมอญเมาะลำเลิงได้ตีทัพพระเจ้าตองอูแตกไป
อ้างอิง