ซิมง เดอ ลา ลูแบร์


ซิมง เดอ ลา ลูแบร์



พระราชประวัติ
          ซีมง เดอ ลา ลูแบร์ เป็นราชทูตของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส ได้เดินทางเข้ามาในประเทศไทยในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เพื่อเจริญสัมพันธไมตรีกับไทย โดยเดินทางมาที่กรุงศรีอยุธยาพร้อมกับเจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) และทหารของฝรั่งเศสประมาณ600 คน
          ลา ลูแบร์ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าคณะทูตฝรั่งเศสร่วมกับ กล๊อด เซเบอเร็ต ดูว์ บูเล (Claude Céberet du Boullay) เดินทางมาอยุธยาเพื่อเจรจาเรื่องศาสนาและการค้าของฝรั่งเศสในอาณาจักรอยุธยาเมื่อ พ.ศ. 2230 ในการเจรจานั้นอยุธยาไม่สู้จักยินยอมรับข้อเสนอของฝรั่งเศส ทำให้เสียเวลาในการเจรจาหลายสัปดาห์ ในที่สุดฝ่ายไทยก็ยินยอมรับข้อเสนอตามความประสงค์ของฝรั่งเศสและทั้งสองฝ่ายได้ลงนามในสัญญาการค้าที่เมืองลพบุรีเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม
          นอกจากจะเป็นหัวหน้าคณะทูตจากฝรั่งเศสแล้ว ลา ลูแบร์ ยังได้รับคำสั่งให้สังเกตเรื่องราวต่าง ๆ เกี่ยวกับอาณาจักรอยุธยาและบันทึกข้อสังเกตทั้งหลายเหล่านั้นกลับไปรายงานให้ราชสำนักของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ได้รับทราบด้วย จดหมายเหตุเหล่านี้ได้กลายเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่มีคุณค่าต่อแวดวงวิชาประวัติศาสตร์ไทยสมัยอยุธยา เพราะกล่าวถึงชีวิตความเป็นอยู่ สังคม ประเพณี ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม หลายสิ่งหลายอย่างของคนในสมัยกรุงศรีอยุธยา จึงนับได้ว่าเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่มีจารึกเป็นลายลักษณ์อักษร

พระราชกรณียกิจ
          จดหมายเหตุลาลูแบร์ในประเทศไทยมีอยู่ 2 ฉบับ คือ ฉบับที่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรวรรณากร กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ทรงพระนิพนธ์แปล โดยทรงแปลมาจากฉบับภาษาอังกฤษ และฉบับแปลของสันต์ ท.โกมลบุตร จากต้นฉบับภาษาฝรั่งเศส
          ความมุ่งหมายในการเขียน เพ่งเล็งในด้านอาณาเขต ความอุดมสมบูรณ์ คุณภาพของดินในการกสิกรรม ภูมิอากาศเป็นประการแรก ต่อมาเป็นขนบธรรมเนียมประเพณีโดยทั่ว ๆ ไป รวมถึงคำศัพท์หรือสรรพนามเรียกขานบุคคลต่าง ๆ ที่ผู้คนในกรุงสยามใช้กันในขณะนั้นด้วย โดยแบ่งออกเป็นหมวดหมู่ต่าง ๆ และเฉพาะเรื่องเฉพาะรายละเรื่องเกี่ยวกับรัฐบาลและศาสนาจะกล่าวในตอนท้าย และได้รวบรวมบันทึกความทรงจำเกี่ยวกับประเทศนี้ที่เจ้าตัวได้นำติดตัวมาด้วยไปผนวกไว้ตอนท้าย และเพื่อให้ผู้อ่านได้รู้จักชาวสยามโดยแจ่มชัด จึงได้เอาความรู้เกี่ยวกับอินเดียและจีนหลายประการมาประกอบด้วย นอกจากนั้นยังได้แถลงว่าจะต้องสืบเสาะให้รู้เรื่องราว พิจารณาสอบถาม ศึกษาให้ถึงแก่นเท่าที่จะทำได้ ก่อนเดินทางไปถึงประเทศสยาม ได้อ่านจดหมายเหตุทั้งเก่าและใหม่ บรรดาที่มีผู้เขียนขึ้นไว้เกี่ยวกับประเทศต่าง ๆ ในภาคพื้นตะวันออก ถ้าไม่มีสิ่งดังกล่าว ลาลูแบร์อาจใช้เวลาสักสามปี ก็คงไม่ได้ข้อสังเกตและรู้จักประเทศสยามดี



อ้างอิง